รอยแผลธำมรงค์ (戒疤/เจี่ยปา)
ในเรื่อง #ดรุณพเนจรท่องยุทธภพ ตัวละครเซียวเซ่อได้บอกว่า 'อู๋ซิน' ที่สวมชุดเหมือนสบง โกนผมเหมือนพระสงฆ์ แท้จริงไม่ใช่พระสงฆ์ เพราะไม่มีรอยแผลธำมรงค์ สรุปคือรอยอะไรยังไงกันแน่ที่บ่งบอกการเป็นสงฆ์ได้
รอยแผลธำมรงค์ คือ รอยแผลเป็นจากการนำธูปหอมจุดบนศีรษะหรือธูปลนไฟแล้วแนบบนศีรษะ ให้มีลักษณะเป็นดวงวงกลมค่ะ เป็นรอยที่พระสงฆ์ในจีนปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นสัญลักษณ์ถึงการรับศีลบริสุทธิ์ การอุทิศตนเพื่อกุศล การตัดอัตตาต่างๆเพื่อบรรลุธรรมทางศาสนาอย่างแท้จริง
จำนวนของรอยแผลเป็นจากการเผาไหม้ธูป จะมีตั้งแต่ 1, 2, 3, 6, 9 หรือ 12 จุดค่ะ ซึ่ง 12 จุดจะเยอะสุด หมายถึง โพธิสัตวศีล การถือศีลสูงสุดในพุทธศาสนานิกายมหายาน และนอกจากศีรษะแล้ว ยังมีบันทึกกล่าวถึง ว่ามีการใช้ธูปจี้ลนในบริเวณอื่นๆด้วย ทั้งลำตัว แขน ขาก็มีค่ะ ตามบันทึกเรื่องเล่า 'รอยแผลธำมรงค์' นี้เริ่มต้นขึ้นในปีที่ 25 สมัยฮ่องเต้หยวนชื่อจู่แห่งราชวงศ์หยวน 'เจ้าอาวาสจื้อเต๋อ' วัดเทียนสี่ในจินหลิง ได้ประกอบพิธีกรรมเผาธูปแนบบนศีรษะของตนและกระจายแก่ลูกศิษย์ เป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา หลังจากนั้นรอยแผลเป็นจากรอยไหม้ของธูปก็ถูกส่งต่อกันมา ซึ่งพิธีกรรมนี้ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนาพุทธนะคะ ไม่มีบทบัญญัติแต่อย่างใด เป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดกับพระสงฆ์ในจีนเท่านั้น ชนกลุ่มน้อยของจีนหรือทางประเทศอื่นไม่มีพิธีกรรมแบบนี้ค่ะ
นอกจากนี้ยังมีบันทึกเพิ่มเติมว่า 'รอยแผลธำมรงค์' เกิดขึ้นจากพระเจ้าเหลียงอู่(梁武帝) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียง ที่ศรัทธาในพุทธศาสนามากๆได้อภัยโทษแก่นักโทษประหารทั่วอาณาจักรและให้พวกเขาไปออกบวชแทน แต่เพราะเกรงว่านักโทษเหล่านี้จะหลบหนีจากวัดไปก่ออาชญากรรมอีก จึงใช้การประทับรอยด้วยธูปบนศีรษะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้ค่ะ หลังจากนั้นก็แพร่หลายไปทั่ว สืบทอดทำตามกันมาอีกที
ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2526 สมาคมชาวพุทธแห่งประเทศจีนก็ได้มีมติ ยกเลิกการเผาแผลเป็นบนศีรษะของพระสงฆ์ เนื่องจากไม่ใช่พิธีกรรมดั้งเดิมของศาสนาพุทธ และเป็นอันตรายด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่ค่อยพบเห็นรอยแผลธำมรงค์บนศีรษะของพระสงฆ์แล้วค่ะ (แต่ก็ยังมีการทำกันอยู่นะคะในบางพื้นที่ ปัจจุบันที่จีนพุทธศาสนิกชน หรือกลุ่มคนทั่วไปที่ศรัทธาในพุทธศาสนามากๆ ก็ยังคงนิยมพากันมาให้พระอาจารย์ดังๆประทับรอยแผลธำมรงค์ตามส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน เหมือนกันค่ะ พิธีกรรมนี้ก็ไม่ได้หายไปอย่างสมบูรณ์ทีเดียว)
...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น